บรรยากาศ การดู โทรทัศน์ ในยุค พ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ยังละอ่อน

 


ถวิลหาวันวาน

ปัจจุบันเทคโนโลยีของการดูโทรทัศน์ล้ำหน้าไปจนเกือบถึงดาวอังคารแล้วถ้าเปรียบเทียบกับยุคที่ผมยัง "ละอ่อน" โทรทัศน์ดิจิตอล ยูทูป เข้ามาทำให้ทุกอย่างสะดวกสบายขึ้น สามารถดูเลือกชมรายการต่างๆได้ตามที่เราต้องการ ว่างตอนไหนก็ดูตอนนั้นมันเป็นการเปลี่ยนรูปแบบของการดูโทรทัศน์จากยุคก่อนไปอย่างสิ้นเชิง เป็นข้อดีที่เราจะไม่พลาดรายการโปรดและกลับมาดูย้อนหลังได้ในเวลาว่าง 

วันนี้ผมนั่งดูรายการย้อนหลังในยูทูปแล้วกลับไปนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ตอนที่ยังเป็นเด็กน้อย ยุคของโลกอนาล็อก เครื่องหลอด สู่ทรานซิสเตอร์ ก่อนเข้าสู่ยุคปัจจุบันโลกแห่งดิจิตอล อยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังว่าตอนนั้นบรรยากาศการดูโทรทัศน์มันเป็นอย่างไรกันบ้างครับ

ย้อนหลังไปสัก 40 กว่าปี สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก หนัง ละคร การ์ตูน รายการโทรทัศน์ ออกอากาศกันตามเวลาผ่านแล้วผ่านเลยไม่มีดูย้อนหลัง เราจะต้องมานั่งรอกันตั้งแต่หนังยังไม่เริ่มฉาย ห้ามพลาดเด็ดขาด นั่งรออยู่หน้าโทรทัศน์กันอย่างใจจดใจจ่อ ต้องทนดูโฆษณณาซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จะกี่รอบ จนหนังเริ่มฉายก็ตั้งอกตั้งใจดูกันจนแทบไม่กระพริบตา แม้กระทั่งปวดท้องหนักหรือปวดท้องเบาก็ต้องรอให้ถึงโฆษณาคั่นก่อนถึงจะยอมไปเข้าห้องน้ำ อะไรที่พอทนได้ก็ต้องทนเดี๋ยวจะพลาดช็อตเด็ด

หนังไทยสไตล์จักรๆวงศ์ๆ มียักษ์ มีคาถาอาคม มีอิทธิฤทธิ์ อาถรรพ์ ลึกลับ หนังผี มาแรงแซงโค้ง ทำให้คนดูติดฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง ช่วงเวลาสำคัญเริ่มจากข่าวตอน 2 ทุ่ม ต่อด้วยหนังการ์ตูนแบบสั้นๆ แค่ไม่ถึง 10 นาที คั่นเวลาเรียกน้ำย่อยก่อน  แต่ก็ทำให้เด็กๆอย่างเราชอบ รอให้ถึงเวลาฉาย อย่างเรื่อง บ๊อปอาย ทอมกับเจอร์รี่ มิกกี้เม้าส์  น้ำอัดลม อย่างเช่น คิกคาปู้ เซเว่นอัพ ไบเล่ กรีนสปอต จะอาศัยช่วงเวลานี้ยิงโฆษณาจนเราจำได้ถึงทุกวันนี้ แล้วก็ตามมาด้วยละคร เป็นไฮไลท์ที่ทุกบ้านทุกคนรอคอย ในเวลา 2 ทุ่ม 30 เช่นเรื่อง แก้วหน้าม้า แม่นาคพระโขนง ดาวพระศุกร์ ห้องหุ่น การ์ตูนยาวๆจะมาฉายแค่วันเสาร์-อาทิตย์ตอนกลางวัน อย่างเช่น กันดั้ม หน้ากากเสือ ผึ้งน้อยพเนจร ตอนผมเรียนมัธยมต้นมีหนังการ์ตูนมาฉายตอน 4 โมงเย็นแค่เรื่องเดียวคือเรื่อง อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา 

ตอนนั้นโทรทัศน์เปิดปิดเป็นเวลา ไม่ได้มีให้ดูกันทั้งวันทั้งคืนเหมือนตอนนี้ เริ่มตั้งแต่ 4 โมงเย็น จนถึง 3 ทุ่มครึ่ง หรือ 4 ทุ่ม แต่ละช่องเวลาเปิดปิดจะต่างกันนิดหน่อยในแต่ละวัน พอถึงเวลาที่โทรทัศน์ออกอากาศผู้คนจะรีบทำภาระกิจให้เสร็จเพื่อมาดูกัน ยิ่งเป็นหนังเรื่องฮิตที่มีคนติดกันมากๆ ในซอยบ้านถนนหนทางจะว่างเปล่าเงียบกริบเพราะคนจะมามุงอยู่หน้าจอทีวีกันหมด ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ จะเริ่มเร็วหน่อย ตั้งแต่ 8 โมงเช้าเลิกเวลาเดิมครับ

จากโทรทัศน์ขาวดำ ก็เริ่มมีโทรทัศน์สีเข้ามาในท้องตลาด แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังดูโทรทัศน์ขาวดำเครื่องเก่ากันอยู่เหมือนเดิม คนพอมีฐานะสักหน่อยถึงจะไปซื้อโทรทัศน์สีมาดูกันเพราะราคามันยังแพงมาก เครื่องยังเป็นระบบหลอดกินไฟมากแถมยังร้อนจี๊ บางทีมีกลิ่นไหม้ออกมาก็ต้องรีบปิด ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นแบบทรานซิสเตอร์ ภาพยังไม่คมชัดเท่าไหร่ มีภาพซ้อน คลื่นแทรก เสียงซ่า ถ้าใช้เสาร์อากาศแบบหนวดกุ้ง  บางช่องดูไม่ได้เลยในบางพื้นที่ อยู่ในตึกยิ่งไปกันใหญ่ ดูโทรทัศน์แม่ห้ามรีดผ้าเด็ดขาดเพราะมีคลื่นแทรกรุนแรงมากกลัวโทรทัศน์สีย ถ้าใช้เสาอากาศแบบที่ติดบนหลังคาภาพถึงจะคมชัด ช่อง7 ช่อง5 ชัดที่สุด แต่การปรับเสาร์ก็เลือกให้ชัดเจนที่สุดได้แค่ช่องเดียว ช่องอื่นภาพจะซ้อนนิดหน่อยต้องทนเอาครับ แต่เราก็จะเลือกปรับช่องที่ชอบให้ชัดที่สุด

ในยุคหนึ่งเขาทำผังรายการมาแจกตามบ้านด้วย (ถ้าผมจำข้อมูลเรื่องแจกผิดต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วยนะครับ) เล่มไม่ใหญ่แต่พิมพ์แบบสีทั้งเล่มเลย มีผังรายการให้ดูทุกช่อง มีโฆษณาหนังใหม่ๆล่วงหน้า อัพเดทเรื่องราวสำคัญๆอีกให้ด้วย สมัยนั้นเป็นยุคทองของทีวีช่อง7  ทำหนังออกมาถูกใจคนดูแทบทุกเรื่องเลย ยิ่งเป็นหนังจักรๆวงศ์ๆช่อง7เป็นเจ้าตำรับครองตลาดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยครับ 

พูดถึงข้อดีของทีวีในสมัยก่อนมันอยู่ตรงที่ได้เห็นความมีคุณค่าของ ภาพยนตร์ ข่าว รายการต่างๆ ที่เราต้องรอ รู้จักการรอคอย มวยดังๆทำให้รถไม่ติด เพราะคนไม่ออกไปไหน รอดูมวยกัน ถ้าพลาดก็ไม่ได้ดู ยิ่งเป็นหนังตอนจบเราทุกคนจะไม่ยอมพลาดกันเป็นอันขาดต้องดูให้ได้ บางที่ถ้ามีเหตุทำให้ไม่ได้ดู อย่างเช่น  ไฟดับ หรือมีธุระสำคัญ จะทำให้เสียอารมณ์สุดๆ ถึงขนาดจะต้องให้คนที่ดูเล่าให้ฟังกันเลยล่ะครับ รายการบางรายการทำให้เด็กไม่ออกไปไหนเพราะต้องมารอดู รายการทีวีสมัยก่อน ถ้าคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมมานั่งคุยกัน ส่วนมากจะรู้จักเหมือนกันหมด เพราะยังมีไม่มาก 


ปัจจุบันข้อมูลในโลกออนไลน์มากมายจนล้น ถ้าไม่รู้จักใช้จะทำให้ดึงเวลาของชีวิตจริงจนมากเกินไป สมัยก่อนเรายังได้เห็นโลกกว้างได้สัมผัสกับสิ่งต่างรอบตัว แต่ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงวัยใช้เวลาแทบทั้งหมดอยู่ในโลกออนไลน์ เขียนไว้เท่านี้ก่อนนะครับเดี๋ยวจะยืดยาวออกนอกเรื่องมากไป หวังว่าเรื่องของทีวีในยุคที่ พ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ยังล่ะอ่อน จะทำให้ท่านผู้อ่านที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมชุ่มชื่นหัวใจ เมื่อหวลรำลึกนึกถึงเรื่องราวเก่าๆเหล่านั้นนะครับ



คำที่เกี่ยวข้อง

การดู โทรทัศน์ ทีวี อนาล็อก ดิจิทัล ดิจิตอล สี ขาวดำ ช่อง 3 5 7 9 11 ITV สาม ห้า เจ็ด เก้า สิบเอ็ด ไอทีวี ยุค เก่า บุกเบิก กำเนิด ประวัติความเป็นมา จุดเริ่มต้น ประเทศไทย กรุงเทพฯ ระบบหลอด ทรานซิสเตอร์ เจาะเวลา ย้อนยุค วินเทจ 

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า